วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การเขียนบทความวิจัย

บทคัดย่อ
บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสนอแนะวิธีเขียนบทความการวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กำหนดมาตรฐานบทความวิจัยเพื่อการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิ ไว้ 3 ประการ คือ หลักฐานอ้างอิงและข้อพิสูจน์ ประโยชน์ในวงวิชาการ การนำไปประยุกต์ใช้ และ การใช้ภาษาถูกต้อง ผู้เขียนบทความเน้นเป็นพิเศษเรื่องสไตลการใช้ภาษาที่ชัดเจน ในการบรรยายสื่อความตรงกับสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ วัตถุประสงค์ กระบวนการวิจัย สิ่งที่ค้นพบที่เป็นองค์ความรู้ และประโยชน์ การนำไปใช้

คำหลัก การวิจัย บทความ การเขียนบทความ

Abstract

The article is aimed at suggesting how to write a research article for publication. The Faculty-of- Education journal , Naresuan University sets three academic quality standards of a research article for peer review : references and verification, applications in academia , and correct usage of language. This article puts a special emphasis on a style of precise language usage for the author of a research article to communicate what he or she intends to so that the readers clearly understand the research objectives, procedures, new body-of-knowledge findings, and applications.

Key Words : Research Research article

ความนำ
บทความการวิจัย เป็น บทความทางวิชาการประเภทหนึ่งในหลาย ๆ ประเภท การ เขียนบทความการวิจัย ( Research Article) เป็น การ เสนอผลงานการวิจัยของผู้วิจัย ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อการวิจัย วัตถุประสงค์ วิธีการ สรุป และอภิปรายผลของการวิจัย ( นิพนธ์ กินาวงศ์, . 2551 ) และเมื่อพิจารณาบทความวิจัยที่ปรากฏในวารสารวิชาการ ก็ทำให้เห็นลักษณะเฉพาะของบทความวิจัย จากลักษณะการเขียน กล่าวคือ การเขียนบทความการวิจัย เป็น การนำเสนอ องค์ความรู้ จากการวิจัยค้นคว้าในรูปของบทความ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ หลัก ส่วนวัตถุประสงค์ รองคือการเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ควบคุม คุณภาพของงานวิจัย ด้วยการที่ต้องผ่านการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชา และตีพิมพ์เผยแพร่ ต่อ สาธารณะ ในแง่การจัดการความรู้ การนำเสนอผลการวิจัย ในรูป การเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ ถือว่าเป็นกระบวนการขั้น --- การเผยแพร่องค์ความรู้ ( Knowledge Dissemination )

คุณภาพบทความวิจัย
การเขียนบทความการวิจัย จึงมีความสำคัญ การที่มีผลงานดี แต่เขียนไม่ดี ความรู้ก็อาจจะไม่เผยแพร่ไปสู่ผู้อ่านได้ วารสารศึกษาศาสตร์ ไม่ได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ
( Minimum requirements ) ของการประเมินคูณภาพงานเขียนบทความทางวิชาการเอาไว้ เพียงแต่กำหนดมิติการประเมิน และระดับการประเมิน ไว้ให้ผู้ทรงคุณวุฒิ พิจารณา ( Peer Review ) เพื่อเสนอว่า ควรจะผ่านให้ตีพิมพ์หรือไม่ ในแบบฟอร์มการประเมิน สรุปได้ ดังนี้
1. มาตรฐานด้านหลักวิชาการ พิจารณาจากตัวชี้วัดคือ หลักฐานอ้างอิง ข้อพิสูจน์ หลักฐานสนับสนุน
2. มาตรฐานด้านประโยชน์ในวงวิชาการ พิจารณาจากตัวชี้วัดคือ กานเสนอแง่มุมการนำไปประยุกต์ใช้
3. มาตรฐานด้านการใช้ภาษา พิจารณาจากตัวชี้วัด คือ การใช้ภาษาถูกต้อง ไม่ซับซ้อน ถูกวรรคตอน ใช้ศัพท์วิชาการถูกต้อง
ระดับการแระเมินมีลักษณะเป็นเชิงคุณภาพ คือมีลักษณะเป็นอัตนัย (Subjective) กำหนด ไว้ 5 ระดับ คือ ดีมาก ดี พอใช้ ยังเชื่อถือไม่ได้ แบบประเมินไม่ได้กำหนด เกณฑ์ขั้นต่ำ ที่จะผ่าน ( Minimum requirements หรือ Benchmark ) เอาไว้

เค้าโครงการเขียนบทความวิจัย
การเขียนบทความการวิจัย เพื่อลงพิมพ์ในวารสารศึกษาศาสตร์ มีเค้าโครงที่
แน่นอนโดยกำหนดหัวข้อเรียงลำดับ ที่ถือปฏิบัติกันมา เพื่อให้ครอบคลุมสาระสำคัญที่ผู้วิจัยควรนำเสนอให้ผู้อ่านรับรู้ และได้เรียนรู้ เป็นหลักสากลสำหรับการเขียนบทความการวิจัย
คือ ชื่อเรื่อง ภาษาไทย ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ ชื่อผู้วิจัย ผู้วิจัยร่วม บทคัดย่อ
( Abstract ) คำหลัก ( Key Words ) บทนำ วัตถุประสงค์ วิธีดำเนินการ ผลการวิจัย อภิปรายผล ข้อเสนอแนะ บรรณานุกรม อาจจะมีหัวข้ออื่น ๆ เพิ่มเข้ามาอีก ก็แล้วแต่ผู้วิจัยจะเห็นว่าเป็นส่วนสำคัญที่ผู้อ่านควรรู้ และเพื่อไม่ให้บทความเยิ่นเย้อจนเกินความจำเป็น
กองบรรณาธิการอาจจะจำกัดความยาว ของบทความไว้ก็ได้ กรณีของ วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรกำหนดไว้ไม่เกิน 15 หน้า


การเขียนให้ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำ
รองศาสตราจารย์ ดร. นิพนธ์ กินาวงศ์ ( 2551 ) ได้เสนอเทคนิคการเขียนบทความวิชาการที่ดีไว้ดังนี้
1. ชื่อเรื่อง ชัดเจน ตรงไปตรงมา ครอบคลุมประเด็น ใช้คำถูกต้อง
2. ชื่อผู้เขียน ต้องใช้ชื่อจริง ไม่ใช้นามแฝง ถ้ามีน้อยกว่า 3 คน ควรใส่ชื่อทุกคน ถ้า
มากกว่าใช้ชื่อแรกและตามด้วย และคณะ
3. บทคัดย่อ ความยาวของบทคัดย่อไม่ควรเกิน 1 หน้ากระดาษ อาจมีบทคัดย่อทั้ง
ภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ
4. ความนำ เขียนปูพื้นฐานเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้อ่าน เขียนให้กระชับ ตรง
ประเด็น ให้สอดคล้องกับบทความที่นำเสนอ
5.. เนื้อหาสาระ ควรมีข้อมูลที่ถูกต้อง เนื้อหาบางอย่างอาจอธิบายเป็นข้อ ๆ
หรือมีตาราง หรือ แผนภูมิ หรือ ภาพประกอบ เนื้อหาแต่ละตอน ควรย่อหน้า (Paragraph) ที่ชัดเจน แต่ละย่อหน้าประมาณ 3 -10 บรรทัด
6. บทสรุป ควรเขียนสรุปเชิง บรรยาย เสนอแนวคิดที่นำไปสู่การศึกษาค้นคว้า
ต่อไป
7. ส่วนอ้างอิง ทั้งในเนื้อหา หรือบรรณานุกรม ให้ชัดเจน ส่วนอ้างอิงควรทันสมัย
ห้าม คัดลอกโดยไม่มีการอ้างอิง เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์
การเขียนบทความวิจัยก็ยึดหลักเทคนิคเหล่านี้เช่นกัน และถ้าหากจะให้เฉพาะเจาะจงสำหรับการเขียนบทความวิจัยตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยกองบรรณาธิการวาสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร ใคร่ขอเสนอแนะหลักการเฉพาะดังนี้
1. บทคัดย่อ ไทย ควรเป็นบทคัดย่อ จริง ๆ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นจุดสำคัญที่ผู้อ่านเริ่มมอง วารสารบางฉบับจำกัดความยาวบทคัดย่อในรูปจำนวนคำ ภาษาในบทคัดย่อควรเรียบเรียงมาแล้วเป็นอย่างดี อ่านเข้าใจง่าย เห็นภาพกระบวนการและองค์ความรู้ใหม่ ควรตัดข้อความซ้ำซ้อน ( Redundancy ) เยิ่นเย้อ และ คำขยาย ที่ไม่จำเป็น ออก การเขียนเชิงวิชาการจะเป็นการเขียนที่มีลักษณะที่ อธิบาย ปรากฏการณ์ เปิดเผยข้อเท็จจริง ( Expository ) ภาษาวิชาการไม่ควรมีลักษณะพรรณนาโวหาร
2. คำหลัก ควรเป็นคำที่สำคัญ เป็น Terminology หรือวลีที่ใช้ ในการพูดการเขียนที่เป็นทางการ ในสาขาวิชา มีประโยชน์เพื่อการสืบค้น
3. บทคัดย่อภาษาอังกฤษ ควรเป็นบทแปลที่ดี มีข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุด อยู่ในวิสัยที่ผู้พิจารณาจะแก้ไขให้ได้ ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่เวทีสากล
5. บทนำ ไม่ควรยาวเกินไป เพียง 2-3 หน้าก็เป็นบทนำที่ดีได้ ข้อบกพร่องที่พบบ่อยครั้ง ผู้วิจัยยกบทนำมาจาก ตัววิทยานิพนธ์ โดยไม่มีการตัดทอนปรับปรุงถ้อยคำสำนวน ทำให้ยาวเกนความจำเป็น และบางครั้งก็อ่านเข้าใจยาก และควรจะพิจารณาซ้ำเป็นพิเศษ ในเรื่องเหตุผล (Rationale) ที่นำไปสู่การวิจัยเรื่องนี้ ถึงความน่าเชื่อถือของงานวิจัย
6. วัตถุประสงค์ น่าจะมีเฉพาะวัตถุประสงค์ หลัก และ วัตถุประสงค์ รอง ส่วนวัตถุประสงค์ ที่นำทางหรือเป็นอย่างเดียวกับขั้น ตอนการวิจัยนั้น ไม่น่าจะนำมากล่าวในบทความ เพราะเป็นการนำเสนอที่ซ้ำซ้อน
7. การดำเนินการวิจัย อธิบายขั้นตอนให้เห็นกระบวนการที่ตอบวัตถุประสงค์ การวิจัย ( เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบต่อปัญหาการวิจัย ) เมื่อเป็นบทความ ควรใช้ภาษาให้กระชับ ให้เห็นกระบวนการ ขั้นตอน การ วิจัย ไม่ควรใช้ภาษาที่เยิ่นเย้อ เช่นกัน ข้อความที่ยกมาวาง จาก วิทยานิพนธ์ควรมีการปรับปรุงใน แง่ของการใช้ภาษา
8. ผลการวิจัย ควร สรุปเฉพาะสิ่งที่ค้นพบที่เป็นองค์ความรู้ ตอบวัตถุประสงค์หลักและวัตถุประสงค์รอง ในกรอบความคิดการวิจัย ที่เรียกว่าองค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัย เป็นจุด สำคัญที่สุดอีกจุดหนึ่ง ที่ผู้อ่านมองหา
9. อภิปรายผล ควรพูดให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างองค์ความรู้ใหม่ที่ค้นพบ กับแนวคิด ทฤษฏี หรือ องค์ความรู้พื้นฐาน ชี้ให้เห็นว่า สอดคล้อง ยืนยันแนวคิดเดิม ของใคร เรื่องอะไร หรือ พบความรู้ใหม่ที่แตกต่าง เพิ่มเติม พร้อมทั้งอนุมานเหตุผลที่เป็นของตัวเอง
10. ข้อเสนอแนะเพื่อการประยุกต์ใช้ ข้อเสนอ ควรจะมาจากการวิจัย เพื่อให้เห็นคุณประโยชน์ขององค์ความรู้ ที่สร้างขึ้น
11. การเขียนอ้างอิงและการเขียนบรรณานุกรม ควรเลือกเอกสารที่ใช้อ้างอิงจริง ๆ ที่น่าเชื่อถือ และได้นำมาอ้างจริง ๆ ที่ปรากฏในบทความ รายการเอกสาร ควรมีเอกสารที่ใช้วิเคราะห์องค์ความรู้ แนวคิดทฤษฏีที่รองรับงานวิจัย ที่ผู้อ่านจะติดตามหาอ่านจากต้นฉบับได้
รูปแบบการเขียนอ้างอิง และการเขียนบรรณานุกรม ควรยึดหลักสากล ถ้าเป็นงานเขียนบทความวิจัย ที่เป็นวิทยานิพนธ์ ต้องยึดคู่มือการเขียน สารนิพนธ์ของมหาวิทยาลัยที่ผู้ทำวิจัยสังกัด
ทุกหัวข้อที่กล่าวมานี้ การใช้ภาษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ผู้เขียนบทความวิจัยควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ควรมีการอ่านทบทวนหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่า ภาษาที่เขียน สื่อความตรงกับที่อยู่ในใจของผู้เขียน และ ผู้อ่านจะอ่านรู้เรื่องและติดตามงานเขียนของท่าน เหมือนอย่างที่ท่านเข้าใจ การเขียนด้วยความรีบเร่ง การมุ่ง คัดลอก ( Copy ) และ วาง ( Paste ) จากต้นฉบับวิทยานิพนธ์ อาจทำให้บทความการวิจัยลดคุณค่าลงได้
บ่อยครั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิ ประสบปัญหายุ่งยากใจ หากต้องอ่านงานบทความการวิจัยที่เขียนมาต่ำกว่ามาตรฐาน เกิดความยุ่งยาก ใน การแก้ไข การให้ข้อเสนอแนะ และการตัดสินใจให้การรับรองให้ ตีพิมพ์ในวารสาร เพราะการให้การรับรอง หมายถึงการแบกภาระรับผิดชอบ ต่อเกียรติภูมิ และความน่าเชื่อถือ ของวารสาร คณะวิชา และ มหาวิทยาลัย ที่เป็น ต้นสังกัด

เอกสารอ้างอิง

นิพนธ์ กินาวงศ์ . (2551) การเขียนบทความทางวิชาการ . ประกอบการบรรยาย
การสัมมนาทางวิชาการ นิสิตปริญญาเอก สาขาการบริหารการศึกษา
มหาวิทยาลัยนเรศวร 22 มิถุนายน 2551.
แบบพิจารณาและประเมินคุณภาพบทความวิชาการสำหรับ Peer Review วารสาร
ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร